สัญญาณว่าประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจลดลง
มิติที่ 1 การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ตลาดหุ้น นักลงทุนต่างชาติมีสัญญาณขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยเริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากไตรมาสแรก ปี 2021 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างชาติมากถึง 3 แสนล้านบาท เป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่ทำให้นักลงทุนไทยหันไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตามทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง
มิติที่ 2 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เหลือเพียงประมาณ 10% ในช่วงปี 2016-2019 จากเดิมที่เคยสูงกว่า 30% ในช่วงปี 2004-2007 ขณะที่บริษัทไทยก็เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน
มิติที่ 3 การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก การส่งออกทั่วภูมิภาคขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะสัดส่วนสินค้าส่งออกที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง
.

.
ความสามารถในการแข่งขันลดลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ
ชั้นแรก สินค้าส่งออกหลักของไทยกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ โดยสินค้า 5 กลุ่มหลัก คือ อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์, สินค้าเกษตร และปิโตรเคมี มีสัญญาณชะลอตัวลงหรือไม่สามารถขยายตัวได้ดีเท่าอดีต
ส่วนแบ่งตลาดโลกในกลุ่มสินค้าหลักทั้งหมด เริ่มคงที่ในระยะหลัง ในขณะที่คู่แข่งอย่างประเทศเวียดนามที่มีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ถึง 4.1% ในปี 2018 สอดคล้องกับโครงสร้างการส่งออกของเวียดนามที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.45% ในปี 2018 และปัจจุบันมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มโทรศัพท์แบบเครื่องและพกพาของเวียดนามมากถึงประมาณ 20% ของการส่งออกทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าส่งออกของไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ และปัจจัยสนับสนุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ
- สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไทยไม่มีการส่งออกสินค้าใหม่ เช่น ชิปหรือ Semiconductor ที่เติบโตได้มากและใช้ประโยชน์ในการผลิตสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยี 5G และสินค้าส่วนใหญ่เป็น Hard Disk Drive ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง Solid State Drive (SSD)
- เครื่องใช้ไฟฟ้า การลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงที่ชัดเจนขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นออกจากไทย มีเหตุผลสำคัญ คือ ยอดสั่งซื้อลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ค่าแรงเพิ่มขึ้น คุณภาพของแรงงาน และการเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ๆ ที่ล่าช้า เช่น ข้อตกลง CPTPP หรือข้อตกลการค้าเสรีกับกลุ่ม EU ที่เวียดนามสามารถเจรจาได้สำเร็จ แต่ไทยยังไม่สามารถทำได้ เป็นต้น
- รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 17% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย อาจมีความเสี่ยงสูงจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
- สินค้าเกษตร กำลังเผชิญหน้าการแข่งขันที่สูงขึ้น ในขณะที่ผลิตภาพการผลิตไทยยังอยู่ในระดับต่ำและการขาดแผนพัฒนาผลิตภาพจากภาครัฐ
- อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีความเสี่ยงจากต้นทุนที่อาจสูงขึ้นในอนาคต ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มมีปริมาณการผลิตลดลง ทำให้ต้องนำเข้ามากขึ้น
.

.
ชั้นที่ 2 ไทยไม่มีสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิต เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มจากการผลิต (Value added) ที่บริษัทไทยสามารถสร้างได้ พบว่า อยู่ในสัดส่วนคงที่มาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นว่าช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่มาสู่ประเทศไทย
รวมถึง เมื่อพิจารณาโครงสร้างการเติบโตของสินค้าส่งออกไทยในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีการพัฒนากระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Resource-based Manufacture รวมถึงกลุ่มอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร และเติบโตในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางโดยฉพาะรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองและรับหน้าที่เป็นเพียงผู้ประกอบสินค้าเท่านั้น รวมถึงไม่มีทิศทางการพัฒนาไปสู่การส่งออกในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology) ที่ชัดเจน ในขณะที่ความต้องการสินค้าเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงเพียง 19% เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดในปี 2019 ในขณะที่เวียดนามมีสัดส่วนที่ 28% และเอเชียที่ 26%
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเติบโตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 เพียง 2.2% ในขณะที่เอเชียโตเฉลี่ยถึง 6.6% โครงสร้างการส่งออกที่ยังเป็นสินค้าแบบเก่า ทำให้ช่วงที่ผ่านมา การส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะประเด็นความท้าทายของการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่เลี่ยงไม่ได้เป็นอีกปัจจัยลบต่อการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจ ทั้งมิติขนาดของตลาดและความพร้อมของแรงงาน ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น การขาดการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในไทยลดลง
.

.
ชั้นที่ 3 นโยบายของรัฐ ยังไม่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระยะยาว เมื่อพิจารณาจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำ World Competitiveness Index โดย IMD ได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 40 จาก 137 ประเทศในปี 2019 แม้อยู่ในลำดับที่ไม่แย่มากนัก แต่มีอุปสรรคใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้นและส่งผลไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพัฒนาไปตามเทรนด์โลกยุคใหม่ ทั้งในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงอนาคต
- ปัญหาด้านการผูกขาดตลาดสินค้าในประเทศจากปัญหาการคอร์รัปชัน การเอื้อประโยชน์พวกพ้องทำให้ไม่เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ รวมถึงภาษีการค้าระหว่างประเทศที่ยังสูง
- ปัญหาด้านคุณภาพแรงงานที่ไม่ถูกพัฒนาไปเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงและไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและท้าทายของเศรษฐกิจระยะยาว
- ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญในการมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการปฏิรูปกฎระเบียบที่เหมาะสม พร้อมดึงดูดการลงทุน
.
ความสามารถในการแข่งขันอาจกำลังผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยน
1) เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว อาจไม่ได้ผลอีกต่อไปในอนาคต หากยังไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างการส่งออกที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้สินค้าส่งออกไทยไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าเดิม หรือ อาจหดตัวลงในบางกรณี เช่น การหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะกระทบการส่งออกรถยนต์และการจ้างงานในประเทศ
2) ดุลการค้าของไทย มีแนวโน้มเกินดุลลดลงจากนักท่องเที่ยวที่จะทยอยกลับมาในปี 2564 และ 2565 และติดตามความเสี่ยงของตราสารทางการเงิน
.

.
ความสามารถในการแข่งขันของไทยอาจแย่ลงเรื่อย ๆ และเสียส่วนแบ่งตลาดในสินค้าส่งออกหลักของไทย ทำให้รายได้ของคนในประเทศลดลง และต้องหันมานำเข้าสินค้าที่เคยส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเปลี่ยนจากเกินดุลเป็นขาดดุล เสี่ยงค่าเงินบาทเปลี่ยนทิศทางจากแข็งค่าเป็นอ่อนค่าลงได้
อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกไทยยังมีข้อได้เปรียบในแง่ความซับซ้อนของสินค้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างดี และสามารถต่อยอดสู่สินค้าใหม่ๆ ได้ แนวทางการพัฒนาสินค้าของไทยยังสามารถต่อยอดจากสินค้ากลุ่มเดิม ทั้งจากการเร่งให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย และการขยายการผลิตสินค้าไปในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ จากงานศึกษาของ Growth lab : Center for International Development at Harvard University แสดงให้เห็นว่าประเทศที่จะมีการเติบโตรายได้ต่อหัวสูงจะมีค่าดัชนีความซับซ้อนของสินค้าสูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงตามมาทำให้รายได้ของคนสูงขึ้นตามไปด้วย
.
ทางออกเพื่อให้ไทยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
.

.
1) การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต (Endowment) ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพิ่มการเข้าถึงตลาดการเงิน พัฒนาการศึกษาและคุณภาพแรงงานให้มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ โดยเฉพาะการใช้และพัฒนานวัตกรรม และเปิดรับเอาทักษะใหม่ๆ
2) การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด (Market Size) เพื่อขายสินค้าผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี ในขณะที่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสินค้าในประเทศให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก
3) โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย (Infrastructure) เช่น การขนส่ง การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีและการใช้สิทธิทางภาษีให้วางแผนและเข้าใจง่าย การเตรียมความพร้อมด้าน ICT และ High Speed Broadband พื่อส่งเสริมการดาเนินธุรกิจของภาคเอกชน
4) สถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ (Institutions) โดยเฉพาะส่งเสริมการแข่งขันเสรีปราศจากการคอร์รัปชัน กลไกการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้มาตรฐาน และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในประเทศ
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา แต่การไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและหวังพึ่งพาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดิมๆ อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับวันนี้ ในระยะต่อไปรัฐจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจความต้องการของนักลงทุน ออกนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติรายใหม่ๆ ที่ตรงจุด เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นให้ไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ
ที่มา: KKP Research โดย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร